ตัวช่วยในการรดน้ำจากสปริงเกอร์

468 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตัวช่วยในการรดน้ำจากสปริงเกอร์

เคยสงสัยกันมั๊ยว่าสปริงเกอร์ (Sprinkler) คืออะไร?
        
  สำหรับสปริงเกอร์ คือ ระบบรดน้ำแบบหนึ่งที่มีการบีบอัด ฉีดน้ำ ให้แตกออกมาเป็นสาย และหมุนเหวี่ยงไปรอบบริเวณพื้นที่ที่ต้องการ เป็นระบบที่ใช้แรงดันน้ำประมาณ 8 - 15 เมตร แรงดันน้ำระดับปานกลาง และมีอัตราการไหลของน้ำในปริมาณตั้งแต่ 20 - 300 ลิตรต่อชั่วโมง การใช้งานระบบนี้จะเหมาะกับสภาพแหล่งน้ำที่มีปริมาณพอเหมาะพอดี คุณภาพน้ำและความสะอาดต้องค่อนข้างดี มีระบบการกรองน้ำที่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุดตันที่หัวฉีดได้ง่าย ๆ เพราะรูปล่อยน้ำมีขนาดค่อนข้างเล็ก การใช้งานต้องมีความเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ จึงต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันหัวอุดตัน ระยะของระบบสปริงเกอร์เหมาะสำหรับการปลูกไม้ขนาดกลาง ไม้ยืนต้น ที่มีระยะปลูกต้นไม้ตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสวนไม้ผลและไม้ยืนต้น การเดินท่อน้ำสามารถเดินและวางท่อแยกตามแนวของการปลูกต้นไม้ และติดตั้งหัวสปริงเกอร์ในระยะที่พอเหมาะ เป็นระยะในการฉีดรดน้ำต้นไม้ หรือฉีดน้ำ เพื่อปรับลดอุณหภูมิของพื้นที่ หรือให้สภาพอากาศเย็นลง

คุณสมบัติข้อดี - ข้อเสียของระบบสปริงเกอร์
          ระบบการจ่ายน้ำ หรือการรดน้ำมีการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของเราว่าใช้ทำอะไร เช่น อาจจะแค่ทำสวนหย่อมขนาดพอเหมาะในบริเวณบ้าน ทำสวนไม้ดอกไม้ประดับขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ตลอดไปจนถึงทำสวนผลไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เราจะมาดูข้อดี - ข้อเสียของสปริงเกอร์กันว่ามีอะไรบ้าง

ข้อดี
สามารถตั้งเวลารดน้ำได้ ประหยัดเวลา ช่วยให้เราสะดวกสบายมากขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลรดน้ำ ช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดแรง ในการที่ไม่ต้องยืนรดน้ำเอง โดยเฉพาะหากเป็นพื้นที่ที่มีบริเวณกว้าง เพราะการใช้สปริงเกอร์ สามารถรดน้ำได้ระยะไกลพอประมาณ  มีหัวจ่ายน้ำหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งาน สามารถเลือกให้เหมาะกับความต้องการ  ประหยัดน้ำ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะเราสามารถควบคุมเวลาและควบคุมปริมาณน้ำที่จะใช้งานในแต่ละครั้งได้   ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่บริเวณพื้นที่ของเรา ปรับสภาพอากาศภายในสวนให้มีอากาศเย็นสบายขึ้น

ข้อเสีย
ราคาจะแพงกว่า หากเทียบกับการรดน้ำด้วยสายยางแบบปกติทั่วไป
ในพื้นที่การใช้น้ำต้องมีแรงดันน้ำพอ สำหรับการทำงานของสปริงเกอร์อย่างมีประสิทธิภาพต้องจัดวางตำแหน่ง แบ่งโซน แบ่งพื้นที่ในการวางสปริงเกอร์ ตั้งแต่เริ่มออกแบบแปลนในการทำสวน เพื่อให้การจ่ายน้ำ หรือรดน้ำต้นไม้ทำงานได้เป็นอย่างดี

 

จะติดตั้งระบบสปริงเกอร์ต้องทำอย่างไรบ้าง

1.  คำนวณพื้นที่
          ที่เราจะวางระบบสปริงเกอร์ วัดพื้นที่ทั้งหมดเป็นหน่วยไร่ หรือตารางเมตร การกำหนดหลักเขตที่แน่นอน จะทำให้เรารู้ปริมาณการใช้น้ำต่อพื้นที่ว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานหรือไม่ หากมือพื้นที่มาก ควรวาดเป็นผังการเดินน้ำแบ่งโซนพื้นที่จะคำนวณได้ง่ายมากขึ้น

2.  กำหนดชนิดหัวจ่ายน้ำ
          เลือกหัวสปริงเกอร์ให้เหมาะกับพื้นที่การใช้งาน เนื่องจากต้นไม้แต่ละชนิดมีความต้องการน้ำในปริมาณที่ไม่เท่ากัน การเลือกหัวจ่ายที่เหมาะสม จะช่วยให้การรดน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

3.  วางแนวระบบท่อ
          ขนาดท่อส่งน้ำให้พอดี กรณีพื้นที่กว้าง ควรเลือกใช้ท่อส่งน้ำที่ทนต่อแรงดันน้ำได้ เช่น ท่อ PE รวมถึงคำนวณขนาดท่อ ขนาดท่อหลัก ท่อแยก และท่อต่อหัวจ่าย ควรใช้ขนาดเดียวกัน หรือลดหลั่นจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก เพื่อให้ฉีดแรงดันน้ำได้อย่างเหมาะสม ปริมาณน้ำที่ออกมาจะสม่ำเสมอ โดยมีส่วนประกอบดังนี้

แหล่งน้ำต้นทาง
          หมายถึงน้ำที่เรานำมาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำบาดาล น้ำประปา หรือน้ำจากแม่น้ำลำคลอง แหล่งน้ำที่จะลำเลียงผ่านท่อเข้ามาใช้งานในพื้นที่ต้องมีปริมาณเพียงพอ ทางที่ดีควรมีถังกักเก็บน้ำ เพื่อใช้ในการส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพ

ท่อเมน หรือท่อหลักจ่ายน้ำ
          เป็นท่อในการลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำต้นทาง เพื่อจ่ายน้ำสู่ท่อย่อยต่าง ๆ อีกที ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ท่อขนาด 2 นิ้วขึ้นไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับระบบน้ำของเราว่ามีขนาดเท่าไหร่ ถ้าเป็นขนาดใหญ่ ปริมาณมากก็ควรจะใช้ท่อใหญ่ เพื่อที่จะรับแรงดันน้ำได้อย่างพอเหมาะ หรืออาจจะใช้ท่อรอง เพื่อช่วยลำเลียงน้ำอีกที

ท่อย่อย
          ท่อลำเลียงน้ำที่ต่อแยกจากท่อเมนหรือท่อหลัก ช่วยกระจายปริมาณน้ำไปในส่วนต่าง ๆ ของพื้นที่ที่เราใช้งาน ขนาดท่อส่วนใหญ่จะใช้ ½” หรือ ¾” ขึ้นอยู่กับหัวสปริงเกอร์ที่เราใช้งาน

4.  คำนวณขนาดปั๊ม
           เลือกขนาดและประเภทปั๊มน้ำที่เหมาะกับการใช้งาน เพื่อให้สามารถส่งน้ำไปได้ในปริมาณที่ต้องการ เมื่อเราคำนวณพื้นที่และปริมาณน้ำที่ต้องการใช้งานทั้งหมดแล้ว เราจะทราบว่าควรจะเลือกปั๊มน้ำที่มีขนาดกี่วัตต์ กี่แรงม้า ปั๊มน้ำแต่ละรุ่นจะมีฉลากบอกขนาดของแรง ปริมาณกำลังไฟฟ้า และปริมาณน้ำสูงสุดที่สามารถส่งได้ รวมถึงขนาดแรงดันส่งน้ำ

5.  เลือกระบบสปริงเกอร์
          ที่มีฟังก์ชั่นตั้งเวลาเปิดปิดอัตโนมัติ เพื่อการควบคุมปริมาณน้ำให้พอเหมาะ และไม่เกิดการสิ้นเปลือง การใช้ระบบอัตโนมัติควบคุมการทำงานของปั๊มน้ำในการรดน้ำ ส่วนใหญ่จะใช้ระบบตู้คอนโทรลมอเตอร์ควบคุมเวลาและตำแหน่งในแต่ละพื้นที่ที่ใช้งาน ระบบอัตโนมัติมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ต้องลงทุนมาก แต่ในระยะยาวถือว่าคุ้มค่า ไม่เสียเวลา ไม่เปลืองแรงงาน และพลังงาน 

การแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนหรือเป็นส่วน ๆ
          ทำให้เลือกใช้งานหัวสปริงเกอร์ได้เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ 

การเลือกหัวจ่าย
          ควรเลือกจากระยะและรัศมีของการกระจายน้ำ เพื่อให้การรดน้ำมีประสิทธิภาพ

6.  รู้จักกับสภาพแวดล้อม
          ต้องรู้ว่าปลูกพืชอะไร ปลูกต้นไม้อะไร ดินเป็นแบบไหน พื้นที่มีลักษณะลาดเอียงอย่างไร เพื่อคำนวณปริมาณการรดน้ำในแต่ละครั้งได้อย่างถูกต้อง

7.  ตรวจสอบราคาอุปกรณ์ต่าง ๆ
          คำนวณต้นทุนการติดตั้งจุดคุ้มทุน ความคุ้มค่า และอายุการใช้งาน เช่น หากเราเลือกปั๊มน้ำที่มีกำลังส่งมากเกินไปในพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก จะส่งผลให้เปลืองไฟ และอาจจะทำให้ท่อส่งน้ำแตกได้ง่าย ๆ หรือเลือกหัวสปริงเกอร์ไม่เหมาะสมกับพื้นที่จะทำให้เปลืองน้ำ ปริมาณน้ำมากหรือน้อยไปจะส่งผลต่อต้นไม้และสวนของเรา 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้